Digital Marketing

จบปัญหา จะลงทุนต่อหรือพอแค่นี้ Project Feasibility วิธีประเมินความเสี่ยงธุรกิจด้วยตัวเอง




Main Idea
 
  • Project Feasibility เครื่องมือสำคัญที่ช่วยตรวจเช็คสุขภาพทางการเงิน ก่อนจะขยายกิจการ เพื่อประเมินความเป็นไปได้และผลตอบแทนทางธุรกิจที่ทำได้ด้วยตัวเอง   
 


     ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการหรือนักลงทุน สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่จะต้องรีวิวอย่างต่อเนื่องนั่นก็คือการวางแผนโครงสร้างการเงินเพื่อประเมินความเป็นไปได้และผลตอบแทนทางธุรกิจหรือที่เรียกกันว่า Project Feasibility ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เราตรวจเช็คสุขภาพทางการเงินของกิจการได้ ขณะที่นักลงทุนเองได้ใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจลงทุนในกิจการ
 




     การทำ Project Feasibility มีหลักการก็คือจะต้องประเมินต้นทุนการดำเนินงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างบุคลากร การลงทุนในเครื่องมือต่างๆ ตลอดจนประมาณการณ์รายได้ที่จะเข้ามาในกิจการเป็นระยะเวลาล่วงหน้าตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป โดยจะต้องทำการสรุปออกมาเป็นข้อมูลในแต่ละเดือน
 

     ประโยชน์ของ Project Feasibility 

     ในฐานะเจ้าของกิจการ การทำ Project Feasibility จะช่วยให้มองเห็นภาพของการเกิดกระแสเงินสดในแต่ละเดือนว่ามีความเหมาะสมกับกิจการหรือไม่ เช่น มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ รวมถึงนำไปใช้ในการขออนุมัติแหล่งเงินทุนไม่ว่าจะเป็นการกู้เงินจากธนาคารหรือกองทุนร่วมลงทุน (VC) สถาบันการเงินส่วนใหญ่ต้องการที่จะมองเห็นภาพของโครงสร้างทางการเงินก่อนที่จะตัดสินใจสนับสนุน
 

     ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเอสเอ็มอีหรือ Startup ก็สามารถที่จะทำ Project Feasibility ของตัวเองขึ้นมาได้ หรือแม้แต่การเริ่มต้นสร้างธุรกิจใหม่ก็สามารถร่าง Project Feasibility ขึ้นมาเพื่อประเมินโอกาสและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นก่อนเริ่มต้นลงทุนได้เช่นกัน



 

     สิ่งที่จะต้องใช้ในการทำ Project Feasibility 

     ในเบื้องต้นเจ้าของธุรกิจต้องมีข้อมูลที่ใส่ลงไปใน Project Feasibility ตั้งแต่ราคาขาย คือราคาที่ผู้ประกอบการคาดว่าจะสามารถขายสินค้าหรือบริการในราคานี้ โดยอาจจะหาข้อมูลของราคาขายสินค้าหรือบริการที่คล้ายกันหรือมีอยู่ในตลาดเป็นตัวตั้ง รวมถึงค่าใช้จ่าย (Expenses) โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายคงที่ (Fixed cost) เช่น ค่าเช่าที่ดิน หรืออาคาร, ค่าซื้อเครื่องจักร, เงินเดือนพนักงานประจำ เป็นต้น และค่าใช้จ่ายแปรผัน (Variable cost) เช่น ค่าวัตถุดิบ, ค่าน้ำ, ค่าไฟฟ้า


     จากข้อมูลดังกล่าวแล้วอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ต้องมีคือ การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของธุรกิจภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ที่แย่ที่สุด (Worst case) และสถานการณ์ที่ดีที่สุด (Best case) โดยจะต้องลองจำลองสถานการณ์ด้วยการเปลี่ยนตัวแปรของจำนวนการขายสินค้าและบริการในแต่ละสถานการณ์
 

     ยกตัวอย่างเช่น ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจำนวนสินค้าที่คาดว่าจะขายได้อาจลดลงจากสถานการณ์ปกติจาก 500 ชิ้นต่อวัน เป็น 100 ชิ้นต่อวัน และในช่วงที่เศรษฐกิจดี จำนวนสินค้าที่คาดว่าจะขายได้อาจเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ชิ้น เป็นต้น หรือการเปลี่ยนแปลงตัวแปรของราคาขาย ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน เพื่อวิเคราะห์ถึงราคาต่ำสุดที่ผู้ประกอบการจะสามารถจำหน่ายสินค้าได้ ในขณะที่ความสามารถในการขายจำนวนต่อชิ้นต่อวันยังสะท้อนถึงความเป็นไปได้ในการขาย
 

     การประเมินโอกาสและความเป็นไปได้ทางธุรกิจจึงไม่ได้มีเพียงแค่แผนการตลาดเท่านั้นแต่ต้องมีแผนทางการเงินควบคู่กันไปด้วยจึงจะมีข้อมูลที่ครบถ้วนสำหรับการประเมินโอกาสทางธุรกิจ


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup