Digital Marketing

5 วิธีเยียวยาธุรกิจให้ฟิตกว่าเดิม จากบทเรียนจริงของ นพ.อรรควิชญ์ หาญนวโชค

Text : รัชนี พันธ์รุ่งจิตติ  Photo : ปกรณ์ พลชัย





Main Idea
 
  • อยากรู้ไหมว่าสไตล์การเยียวยาธุรกิจของหมอจะแตกต่างจากการเยียวยารักษาโรคแค่ไหน    
 
  • นี่คือสไตล์เยียวยาธุรกิจของหมอโจ้-นพ.อรรควิชญ์ หาญนวโชค พลิกสถานการณ์ให้กับสองกิจการที่ได้รับแรงสะเทือนจากพิษโควิดให้กลับมาฟิดขึ้นอีกครั้ง
 


     นอกจากอาชีพหลักเป็นหมอเฉพาะทาง Travel Medicine หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ หมอที่ดูแลให้คำแนะนำ ผู้ที่เดินทางไปประเทศ ไม่ให้เจ็บป่วยระหว่างเดินทางแล้ว หมอโจ้-นพ.อรรควิชญ์ หาญนวโชค ยังแบ่งเวลาเพื่อมาทำธุรกิจ The Puffin House ร้านจำหน่ายอุปกรณ์เดินป่าและเป้แบ็กแพ็ก และ บริษัท พาทัวร์โลจี้ จำกัด บริการนำเที่ยวสู่พื้นที่แปลกใหม่ ที่มาแบ่งปันเรื่องราวการทำธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการมาเยือนของไวรัสโควิด-19 พร้อมวิธีแก้ปัญหาธุรกิจสไตล์คุณหมอที่ไม่สงวนลิขสิทธิ์หากใครจะนำไปใช้



 

     จัด Talk show กู้วิกฤตธุรกิจ

     ย้อนกลับไปตอนที่เปิดร้าน The Puffin House นั้นทำเลของร้านไม่ได้อยู่ให้ห้างฯ หรือย่านชุมชน ในช่วงเริ่มต้นจึงยากที่จะดึงคนให้เข้าร้าน หมอโจ้จึงอาศัยจุดแข็งของตัวเองที่เป็นบล็อกเกอร์ท่องเที่ยว มีกลุ่มคนติดตามเพจเฟซหมอๆ ตะลุยโลก อยู่พอสมควร เกิดไอเดียจัดทอล์กคุยเรื่องการเดินทางท่องเที่ยวทุกวันอาทิตย์ที่ร้านของตัวเอง

     “จุดประสงค์ของการจัดทอล์กคือ เพื่อให้ลูกค้ามาเห็นเป้แล้วอยากซื้อ แต่มันไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เพราะคนที่มาฟังเขาไม่รู้ว่าผมขายเป้ คิดว่าผมเอาเป้มาโชว์เฉยๆ แต่ข้อดีของการจัดทอล์กคือ พอเราเริ่มสนิทกันกับคนที่มาฟัง เขาก็เริ่มให้คำแนะนำดีๆ กลับมา บางคนบอกว่าที่ร้านมีเป้แค่รุ่นเดียวมันไม่หลากหลาย ตอนนั้นเราไม่รู้ คิดแค่ว่าเป้รุ่นนี้ใช้แล้วดี ซื้อมารุ่นเดียวแต่ 3 สีๆ ละ 10 ใบ สุดท้ายต้องเอาเป้ 30 ใบนี้ไปขอเปลี่ยนรุ่นก็เริ่มกระจายสินค้ามากขึ้นคนก็เริ่มซื้อ”
 
 


 

     Content Marketing ปลุกยอดขาย

     ต้นทุนอีกหนึ่งอย่างที่เป็นข้อได้เปรียบของหมอโจ้คือ ประสบการณ์ในการเขียนหนังสือถึง 4 เล่ม ทักษะการเขียนคอนเทนต์จึงไม่เป็นรองใคร เมื่อรวมกับประสบการณ์ได้ทำงานร่วมกับเอเยนซี เขาจึงนำจุดแข็งด้านนี้ใส่ลงไปในการทำคอนเทนต์ที่ไม่มีใครทำ เช่น วิธีเลือกเป้อย่างไรให้เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด เพราะผู้ชายผู้หญิงสรีระไม่เหมือนกัน ผู้หญิงหลังสั้น ขายาว ผู้ชายหลังยาว ขาสั้น ดังนั้น เป้ 2 ประเภทนี้ไม่เหมือนกัน

     “ผมยังให้ความสำคัญกับการทำวิดีโอรีวิวสินค้าอย่างจริงจัง ซึ่งใช้เวลาและต้นทุนสูง แต่คนส่วนใหญ่คนมักมุ่งไปที่การถ่ายภาพแล้วก็เขียนบรรยายเพราะทำได้ง่ายและเร็วและกว่า ข้อแตกต่างตรงนี้ทำให้เวลาเซิร์ชหาเป้ในยูทูบ จะเจอสินค้าของร้านขึ้นอันดับ 1 หรือไม่ก็ 2”

     หมอโจ้ยังให้ข้อคิดเพิ่มว่าถึงจะทำตลาดออนไลน์แต่การมีหน้าร้านว่ายังเป็นเรื่องจำเป็น

     “คนชอบคิดว่าถ้ามีออนไลน์แล้วคนจะไม่มาหน้าร้าน แต่มันไม่ใช่ การมีหน้าร้านมันมีข้อดีคือ ทำให้คนเชื่อว่าเรามีตัวตน จริงๆ ร้านผมทำเลไม่ดีมีคนบอกว่าดูร้านแล้วน่าจะขายได้อย่างเก่งเดือนละ 20 ใบ แต่ผมขายเฉพาะเป้ได้เดือนละ 200-300 ใบ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์”

 



     เปลี่ยนธุรกิจไร้ทฤษฎีให้มีหลักการ

     ต้องบอกว่าธุรกิจทั้งสองอย่างของคุณหมอคือ ทั้งร้าน The Puffin House และ บริษัท พาทัวร์โลจี้ นั้นได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์โควิด-19 จากคนที่ไม่เคยว่างงานมาก่อน ทำให้หมอมีเวลามากขึ้นช่วง 3 เดือนแรกที่เกิดโควิดหมอโจ้ใช้เวลาว่างอ่านหนังสือแนวธุรกิจเกือบ 30 เล่ม ทั้งเรื่องการสร้างแบรนด์ การตลาด แล้วก็นำความรู้นั้นถึงวิธีการทำธุรกิจออนไลน์ให้สำเร็จมาร่วมประชุมกับน้องในทีม เช่น การตอบแชตลูกค้าทันทีหรืออย่าให้เกิน 5 นาที  ส่งของให้เร็วที่สุด โดยได้แนวคิดจากหนังสือเล่มหนึ่งผู้เขียนคือ เจ้าของแบรนด์ ZAPPOS ที่ขายรองเท้าออนไลน์ในสหรัฐฯ

     “แต่ก่อนทำธุรกิจใช้ความรู้สึกเป็นตัวนำ เหมือนหมัดเมาไม่มีทฤษฎีอะไรเลย แต่การอ่านหนังสือทำให้โลกกว้างขึ้น นำแนวคิดที่ได้จากการอ่านหนังสือใช้กับร้าน ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่จากเมื่อก่อน ถ้ามีออร์เดอร์มาตอนเย็น เราจะขนของกลับไปแพ็กที่บ้าน แปลว่าออร์เดอร์ที่สั่งมาหลัง 6 โมงเย็นจะถูกตัดไปเป็นของวันรุ่งขึ้น ซึ่งจะหนักกว่าถ้าวันนั้นเป็นวันศุกร์หรือเป็นวันเสาร์ คิดไปคิดมาก็เริ่มตกผลึกว่า เราควรจะย้ายของมาแพ็กที่ร้านแทนเพื่อให้สินค้าถูกส่งออกไปเร็วขึ้น”
 


 
     ทำให้มากกว่าคนอื่น

     ในทางธุรกิจเมื่อโควิดทำให้ทุกคนมีเวลาว่างมากขึ้น หมอจึงบอกกับตัวเองและลูกน้องให้แอ็กทิฟมากขึ้น ตั้งหน้าตั้งตาทำคอนเทนต์ บทความมากขึ้น ซึ่งหมอนักเดินทางเชื่อว่า สิ่งที่เขาทำอาจจะไม่เห็นผลในวันนี้ แต่มันจะออกดอกออกผลเมื่อเวลามันผ่านไป เพราะคนจะจำได้ว่าเคยเห็นคอนเทนต์นี้จากไหน หรือไม่อนาคตเขาจะเจอสินค้าเราในกูเกิล

     “ให้น้องๆ ลองไลฟ์เฟซบุ๊ก ถ่ายรูปโพสต์เขียนข้อความสนุกๆ ที่ไม่จำเป็นต้องขายของ ซึ่งปรากฏว่า Engagement เพิ่มขึ้น มีลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำในช่วง 3 เดือนเยอะมาก รวมทั้งมีการพูดคุยกับลูกค้ามากขึ้น จากเมื่อก่อนลูกค้าซื้อของเสร็จก็จบ แต่พอมีโควิดเราให้น้องๆ โทร.กลับไปหาลูกค้าว่าทำไมมาซื้อที่ร้านเรา เห็นร้านเราจากไหน พวกนี้เป็นข้อมูลที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยทำมาก่อนเลย ซึ่งข้อมูลพวกนี้มีประโยชน์มากในการวางแผนในอนาคต”
 
     จากวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้นนี้สิ่งหนึ่งที่หมอโจ้รับรู้ได้คือ การคิดถึง Worst Case Scenario สิ่งที่แย่ที่สุดเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้นการเตรียมพร้อมให้มากที่สุด อย่างตอนนี้ต้องระลึกเสมอว่ามันจะมีโอกาสเกิดล็อกดาวน์รอบ 2 เราต้องเตรียมพร้อมไว้เสมอ แต่ถึงแม้ไม่มีเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้น อย่างน้อยสิ่งที่เราได้ทุ่มลงไปก็จะส่งผลลัพธ์ที่เป็นบวกกลับมา

     “ควรขยันมากๆ ในช่วงที่ทุกคนอ่อนแอ คุณก็จะกลายเป็นคนที่โคตรแข็งแกร่ง”
 
 
     ออนไลน์ทักษะที่ทุกคนต้องมี

     สำหรับคนรุ่นใหม่ที่สนใจอยากเริ่มต้นธุรกิจ หมอนักเดินทางได้ให้ข้อคิดว่า ยังไม่เห็นอะไรที่อยู่บนออนไลน์ไม่ได้เพียงแค่ว่าต้องนำเสนอให้อยู่ในรูปของออนไลน์ให้ได้แค่นั้นเอง ดังนั้น ออนไลน์เป็นทักษะที่ทุกคนต้องมี ทุกคนควรมีความรู้เรื่องดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง แต่ที่สำคัญคือ ทุกคนต้องมี Personal Branding ของตัวเอง

     “คุณถูกผลิตมาจากมหาวิทยาลัยเป็นพิมพ์เดียวกันหมดเลย แยกไม่ออกว่า ใครเก่ง ใครไม่เก่ง Personal Branding คือ สิ่งที่ทำให้ทุกคนแตกต่าง อย่างตัวผม ทุกคนบอกว่าผมเป็นหมอนักเดินทาง แต่ไม่ได้บอกว่าผมผ่าตัดเก่ง ถ้าเรื่องเดินทางมาถามผม แต่ถ้าเรื่องลดน้ำหนักก็ไม่ต้องมาถามผมไปหาหมอคนอื่นที่เก่งกว่า มันเหมือนต้องสร้างพื้นที่ในการยืนของตัวเองเพื่อที่ต่อไปจะขายอะไรก็ได้ที่อยู่ในสิ่งที่เขาเชื่อว่าคุณทำได้ดี”
 

     นี่คือวิธีเยียวยาธุรกิจสไตล์คุณหมอโจ้ที่ทุกธุรกิจสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง