Digital Marketing

พัฒนายังไงให้ต้นฉบับยอมรับ สตูดิโอสอนทำเบเกอรีสไตล์เกาหลีของสาวสิงคโปร์




Main Idea
 
  • เมื่องานออฟฟิศไม่ตอบโจทย์ความสุขในชีวิต เซเรนาสาวสิงคโปร์ตัดสินใจลาออกเพื่อทำธุรกิจ จากเบเกอรีโฮมเมด ได้พัฒนาไปสู่สตูดิโอสอนทำขนมอบที่ดูเหมือนจะสร้างความยั่งยืนทางรายได้กว่าเดิม 
 
  • ที่สำคัญสตูดิโอสอนทำขนมของเธอที่มีกลิ่นอายเกาหลีได้รับการติดต่อจากครูสอนเบเกอรีชาวเกาหลีอยากร่วมงานด้วย
 


     มีผู้ประกอบการหลายคนเริ่มต้นธุรกิจจากความชอบ หรือ Passion เซเรน่า ตั้ง สาวเจ้าของธุรกิจเบเกอรี “Nanatang” วัย 28 ปีชาวสิงคโปร์ก็เป็นหนึ่งในนั้น เซเรน่าจบปริญญาตรี 2 สาขา คือ การตลาดและโฆษณา และทำงานประจำเหมือนสาวออฟฟิศทั่วไป ที่ผ่านมาเธอชมชอบการทำขนมอย่างมาก แต่ไม่เคยเข้าคอร์สเรียนที่ไหน ได้แต่ฝึกทำตามคลิปในยูทูบ เซเรน่าฝึกอบขนมตั้งแต่เรียนมัธยมปลาย และลองขายเล่นๆ ในอินสตาแกรม ซึ่งก็ปรากฏว่าขายได้ เธอจึงทำเป็นงานอดิเรกแม้จะเรียนจบมหาวิทยาลัยและทำงานประจำแล้วก็ตาม  





     หลังสั่งสมประสบการณ์จากการทำขนมโดยเรียนรู้ด้วยตัวเอง เมื่องานออฟฟิศไม่ได้ตอบโจทย์ความสุขในชีวิต เซเรน่าตัดสินใจลาออกเพื่อทำธุรกิจเต็มตัว จากเบเกอรีโฮมเมดที่เธอพยายามสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด ได้พัฒนาไปสู่สตูดิโอสอนทำขนมอบและแต่งหน้าเค้กที่ดูเหมือนจะสร้างความยั่งยืนทางรายได้กว่าเดิม แต่เมื่อถามเกี่ยวกับการเปิดร้านคาเฟ่ เซเรน่ากล่าวว่าไม่มีอยู่ในแผน มองว่าธุรกิจคาเฟ่การแข่งขันค่อนข้างสูง เธอจึงต้องการเน้นที่โรงเรียนสอนทำขนมที่คู่แข่งน้อยกว่า ควบคู่ไปกับการขายขนมทางออนไลน์เสริมด้วย


     สิ่งที่ทำให้แบรนด์ขนม Nanatang ไม่เหมือนร้านเบเกอรีอื่นคือ นอกจากความสวยงามชนิดที่สามารถถ่ายภาพลงอวดในโซเชียลได้ ขนมจะต้องมีความอร่อยด้วย นอกจากนั้น ขนมที่เซเรน่าเลือกทำและกลายเป็นสินค้าเด่นของแบรนด์คือ เบเกอรีที่กำลังมาแรงในเกาหลีใต้ คือ Ddung-Macaron หรือแฟนซีมาการองซึ่งเป็นมาการองไซส์พิเศษสอดไส้ที่ต่างจากต้นฉบับของมาการองแบบฝรั่งเศส ทั้งนี้ Ddung เป็นภาษาเกาหลีแปลว่า “อ้วน”







     มาการองของ Nanatang มี 2 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ Fat-Macaron กับ Fatfat-Macaron มาการองทั้งสองจะสอดไส้ที่แปลกแตกต่าง เช่น ไส้ครีม Speculoos ไส้ครีมมะนาว ครีมชีส ชาเอิร์ลเกรย์ ไปจนถึงไส้ Ondeh Ondeh (ขนมต้มคลุกมะพร้าว) ไส้แอปเปิลครัมเบิ้ล ไส้สังขยาชีส ไส้เผือกกวน ไส้โมจิทุเรียน ไส้โอริโอชีสเค้ก ไส้ไมโลไดโนเสาร์ หรือแม้กระทั่งไส้แฮมชีสก็มี ทุกไส้ผ่านการทดสอบแล้วว่ารสชาติเข้ากันดีกับตัวมาการอง ด้วยความของไส้จนทำให้ดูเหมือนแซนด์วิชย่อส่วน จึงทำให้เป็นที่มาของชื่อ Fat-Macaron นั่นเอง          


     นอกจากมาการองแฟนซีแล้ว Nanatang ยังรับทำเค้กที่ตกแต่งด้วยดอกไม้บัตเตอร์ครีมสวยงาม ซึ่งเป็นการตกแต่งเค้กสไตล์เกาหลีเช่นกัน เซเรน่ายอมรับว่าเธอชื่นชอบการทำขนมสไตล์เกาหลีจึงติดตามเทรนด์อยู่เสมอ และเดินทางไปเกาหลีอย่างน้อยปีละ 2 ครั้งเพื่อหาแรงบันดาลใจ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่จำหน่ายเบเกอรีไปได้ระยะหนึ่ง เซเรน่ามองว่าเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างอิ่มตัว เนื่องจากร้านเบเกอรีในสิงคโปร์มีเยอะมาก เธอจึงเกิดความคิดเปิดโรงเรียนสอนทำขนมเนื่องจากเป็นธุรกิจที่การแข่งขันน้อย    






     หลังจากตัดสินใจว่าจะเปิดสตูดิโอสอนทำขนม เซเรน่าก็เริ่มคัดสรรสูตรและทดลองสูตร โดยเน้นงานบีบบัตเตอร์ครีมเป็นรูปดอกไม้สไตล์เกาหลี จากนั้นก็ลงภาพผลงานในไอจี ปรากฏว่ามีครูสอนเบเกอรีชาวเกาหลีติดต่อมาว่าสนใจร่วมงานสอนทำขนมกับเซเรน่า สตูดิโอสอนทำขนม Nanatang ได้ฤกษ์เปิดบริการเมื่อปี พ.ศ.2560 โดยเซเรน่าจัดหาทีมงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาสอน เช่น เค้กฝรั่งเศส งานช็อกโกแลต งานเค้กสามมิติ งานบีบบัตเตอร์ครีมเป็นรูปดอกไม้ ทำให้นักเรียนสามารถเลือกเรียนได้หลากหลายทักษะ


     เซเรน่ายังคงทำขนมขายซึ่งทำยอดได้เดือนละ 200-500 กล่อง แต่เธอเน้นที่โรงเรียนสอนทำขนมมากกว่าเพราะได้รับการตอบรับดี และน่าจะเป็นแหล่งรายได้ที่ยั่งยืน เธอเปิดเผยว่าที่ไม่คิดเปิดคาเฟ่เนื่องจากการบริหารคาเฟ่น่าจะยุ่งยากกว่าการบริหารสตูดิโอสอนทำขนม โดยเฉพาะเรื่องการจัดการ และกำลังคน อย่างไรก็ตาม วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบ คอร์สสอนทำขนมต้องยุติชั่วคราว เซเรน่าจึงกลับไปโฟกัสที่การขายเค้กและมาการองออนไลน์โดยทุ่มประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้น โชคดีที่มีออร์เดอร์เข้ามามากพอที่ทำให้ธุรกิจประคองตัวต่อไปได้จนกว่าสตูดิโอจะได้กลับมาเปิดสอนอีกครั้ง






     ด้วยวัยเพียง 28 ปีกับการเป็นเจ้าของแบรนด์ขนม Nanatang และครูสอนทำขนมที่อายุน้อยสุดในสิงคโปร์ เซเรน่าได้แบ่งปันแนวคิดในการทำธุรกิจว่าแม้ประสบการณ์ในการทำขนมและบริหารสตูดิโอจะน้อยแต่เธอเป็นคนที่ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ “ถ้าฉันต้องการอะไร ฉันจะทุ่มสุดตัวเพื่อให้ได้มันมา” นอกจากนั้น เธอยังแนะว่าเจ้าของกิจการต้องหมั่นสรรหาสิ่งใหม่ๆ มานำเสนอ หรือพยายามคิดนอกกรอบเพื่อไม่ให้เกิดความจำเจ


     อีกอย่างที่มองข้ามไม่ได้คือ ภาพสินค้ามีความสำคัญมาก ต้องพิถีพิถันถ่ายออกมาให้สวยและดูดีเพราะภาพผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งแรกที่จะดึงดูดความสนใจของลูกค้า และสำหรับคนที่ทำงานประจำแล้วต้องการผันตัวเองมาทำธุรกิจ คิดให้ถี่ถ้วนก่อน บนเส้นทางของการเป็นผู้ประกอบการนั้นไม่ได้ราบรื่นเสมอไป คนที่แข็งแกร่งและอดทนเท่านั้นจึงมีโอกาสอยู่รอด
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup