Digital Marketing

แพ็กเกจจิ้ง พลังแจ้งเกิด GARUNA เพจขายของที่เริ่มจากลูกค้า 5 รายสร้างรายได้สู่ปีที่ 7

Text : Neung Cch.



Main Idea
 
  • ถุงน่อง ดอกไม้ ตุ๊กตา นสพ และอีกสารพันที่เจ้าของเพจจะหยิบมาครีเอทเป็นแพ็กเกจจิ้งสุดแปลกตา กลายเป็นของมีค่าไม่แพ้สิ่งของภายในช่วยแจ้งเกิดเพจ GARUNA_ให้ยืนยาวกว่าครึ่งทศวรรษ
 


     หนึ่งในกิจกรรมสุดโปรดของคุณสาวๆ ก็คือ การช้อปปิ้ง บางคนใช้ความชอบเป็นเหตุผลหลักในการช้อปมากกว่าเน้นนำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นผ้าพันคอ ผ้าเช็ดหน้า กระเป๋า รองเท้า โปสเตอร์เก่า เครื่องเขียน ฯลฯ วันเวลาผ่านไปของสะสมเหล่านี้เพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ จากสมัยเรียนจนเข้าสู่วัยทำงาน ม.ล. ประวิตรา เทวกุล (แจง) ในวัย 41 ปีที่เคยฝันอยากมีร้านค้าเล็กๆ เริ่มมองเห็นหนทางเมื่อการมาเยือนของโซเชียลมีเดียช่วยทำให้ความฝันเป็นจริงได้ง่ายขึ้น จึงใช้เวลาว่างจากงานประจำเริ่มสวมบทบาทแม่ค้าออนไลน์นำของที่สะสมไว้ ของที่ออกแบบขึ้นมาใหม่ และเลือกซื้อของที่ชอบ เพื่อมาขายผ่านทางอินสตาแกรม





     “เริ่มต้นมีลูกค้าแค่ 5 คนสั่งซื้อของ แต่แค่นี้เราก็รู้สึกดีใจและก็อยากขอบคุณลูกค้า พอดีทำงานเป็นกราฟฟิกดีไซน์เนอร์ ชอบงานทำมืออยู่แล้ว และเมื่อได้ไอเดียน่าสนใจ ก็จะนำวัสดุรอบๆ ตัว เช่น กระดาษที่ไม่ได้ใช้แล้วมาวาดรูปบ้าง นำกระดาษมาพับบรรจงห่อเป็นพัสดุส่งไปให้ลูกค้า”


     ต้องเรียกว่าไม่เสียแรงตั้งใจที่ปราณีตในการห่อพัสดุให้ลูกค้าอย่างดี เมื่อลูกค้าได้รับสินค้าและถ่ายรูปของที่ได้รับพร้อมกับคำขอบคุณที่รู้สึกประทับใจคืนกลับมา จึงเป็นการจุดประกายให้ได้เปิดเพจชื่อ GARUNA (กรุณา) ทั้งทางอินสตาแกรม และเฟซบุ๊กที่อยากสื่อว่าเป็นเพจที่ให้คนขายและคนซื้อมีความกรุณาต่อกัน




 

     งานเสริมแต่ทำจริงจัง

     แม้การขายของทางออนไลน์จะเป็นเพียงการหารายได้เสริม แต่แม่ค้ามือใหม่คนนี้บอกว่าเธอใส่ใจในทุกรายละเอียด ตั้งแต่การถ่ายรูปสินค้าเน้นถ่ายทุกมุมซึ่งแต่ละชิ้นถ่ายไม่ต่ำกว่า 40 ช็อต เพื่อให้ลูกค้าเห็นเหมือนของจริงถ้าชิ้นไหนมีตำหนิก็จะแสดงให้ลูกค้าเห็นก่อนที่จะขายเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจหากลูกค้ารับได้ก็จะได้ไม่มีปัญหาภายหลัง


     วิธีการขายสินค้าของเพจกรุณาจะกำหนดไว้ประมาณเดือนละ 2-3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 30-45 ชิ้น แม้ทุกครั้งที่โพสต์ขายก็จะมีลูกค้ามาอุดหนุนตลอด แต่เจ้าของเพจบอกว่า ไม่อยากโหมหนักเกินไป นอกจากต้องแบ่งเวลาจากงานประจำแล้ว เธอยังต้องใช้เวลาพิถีพิถันในการถ่ายรูปและการห่อของอย่างเต็มที่ด้วยตัวเองทุกชิ้น





     “ที่ลูกค้าชอบร้านเราคงเป็นเพราะมีของแปลกใหม่ตลอดทุกเดือน ทำให้ลูกค้าลุ้นว่าแต่ละครั้งจะมีของอะไรมาขายบ้าง และลุ้นว่าจะได้บรรจุภัณฑ์เป็นอะไร ซึ่งบางครั้งก็ขึ้นอยู่กับอารมณ์ในขณะนั้นของเราด้วย อย่างล่าสุดเราใช้ถุงน่องสีสวยมาห่อของ ตอนแรกก็กลัวโดนลูกค้าตำหนิแต่ปรากฏว่าลูกค้าประทับใจ หรืออย่างลูกค้าที่ซื้อจาน เราก็นำกระดาษมาวาดเป็นลายจานที่เขาซื้อไปให้ ปรากฏว่าลูกค้าได้รับของแล้วนำกระดาษที่เราวาดไปใส่กรอบรูป ตกแต่งบ้าน”


      เมื่อถามถึงเป้าหมายของการทำเพจ GARUNA เจ้าของเพจบอกว่ายังมองว่าเป็นการหารายได้เสริมเท่านั้น


     “เหมือนเราดำรงชีวิตอยู่กับกิเลสเห็นอะไรสวยเราก็ซื้อ การขายของจึงเป็นเหมือนความสุขได้ปล่อยของให้คนที่มีรสนิยมเดียวกัน ถ้าเอาการขายของออนไลน์เป็นธุรกิจหลักคงลำบาก เพราะเราไม่ได้บวกกำไรเยอะมาก และไม่เคยทำบัญชี นอกจากนี้กลุ่มคนซื้อเป็นฐานลูกค้ากลุ่มเดิมๆ เรารู้สึกว่าเริ่มมีคนทำแบบนี้เยอะขึ้น ตอนแรกก็กังวล แต่ก็มานั่งคิดว่าเราก็ไม่ใช่คนแรกในโลกที่ทำแบบนี้ ฉะนั้นการที่คนอื่นทำบ้างแล้วสร้างรายได้ให้เค้า ให้ครอบครัวเค้า เป็นเรื่องที่น่ายินดี”





     เจ้าของเพจ GARUNA ฝากคำแนะนำ ถึงผู้ที่อยากจะขายของออนไลน์ในยุคนี้ว่า อาจลำบากหน่อยเพราะคู่แข่งเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกวัน ต้องพยายามทำเพจให้ไม่เหมือนคนอื่น ต้องมีจุดยืน ทำทุกอย่างด้วยคุณภาพ ไม่โลภมากใส่ใจทุกรายละเอียดแม้แต่การตอบคำถามกับลูกค้า ถ้าเราพูดจาดีความรู้สึกพวกนี้ลูกค้าสามารถรับรู้ได้ ก็จะทำให้ธุรกิจอยู่ได”


     “ทุกวันนี้ที่ทำเพจนี้ขึ้นมาก็ไม่ได้คิดว่าจะได้อะไรจากลูกค้ามากมาย คิดว่าจะให้อะไรลูกค้ามากกว่า สิ่งนี้อาจเป็นสิ่งที่ทำให้เขากลับมาซื้อของเรา ทำให้เราอยู่ได้ยาวขึ้น"
 
สิ่งเหล่านี้อาจเป็นอาวุธที่ทำให้เพจเล็กๆ อย่าง GARUNA มีอายุธุรกิจมากกว่าครึ่งทศวรรษก็เป็นได้

 
Instagram : Garuna_
Facebook : www.facebook.com/garunashop


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup