Digital Marketing

7 เทคนิค เลือกแฟรนไชส์ ซื้อไปแล้วธุรกิจไม่ตายมีแต่โต





     หากพูดถึงเรื่องการทำแฟรนไชส์แล้วละก็ ก่อนซื้อแฟรนไชส์เราอาจคิดว่าแค่แฟรนไชส์นั้นๆ เติบโต อยู่รอดได้ มีกำไร ก็เพียงพอแล้วนี่นา แต่จริงๆ แล้วการวัดความก้าวหน้าและผลสำเร็จของแต่ละแฟรนไชส์เพื่อเปรียบเทียบ และตัดสินใจลงทุนทำธุรกิจกับแบรนด์นั้นๆ มีปัจจัยให้ต้องคิดแล้ววิเคราะห์มากมาย เริ่มจาก


 
     1. ยอดจำหน่ายรวม

     ตัวเลขนี้คือการวัดผลขั้นพื้นฐานของทุกๆ ธุรกิจ แต่สิ่งที่เราจำเป็นต้องคิดเพิ่มเติมก็คือ ทำเลในแต่ละจุด จะสามารถสร้างยอดขายได้แตกต่างกัน รวมถึงขนาดของร้านค้าก็มีผลด้วย อย่างไรก็ตาม หากร้านค้าหรือแฟรนไชส์นั้นๆ เปิดมาเกินกว่า 1 ปีแล้ว ให้ลองเปรียบเทียบยอดจำหน่ายรวมจากปีก่อนๆ ดู ก็จะเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นเองว่าเราควรร่วมลงทุนด้วยมากน้อยแค่ไหน





     2. กำไร


     ถ้าในโลกการทำธุรกิจมีการถามว่าตัวเลขอะไรที่สำคัญที่สุด ต้องบอกว่าตัวเลข “กำไร” นี่แหละที่สำคัญที่สุด เพราะบางครั้งตัวเลขยอดขายอาจสูงถึง 100 ล้านบาท แต่ถ้าถามถึงกำไรขึ้นมาแล้วเจ้าของแฟรนไชส์ตอบได้ไม่เต็มปากก็คงไม่ใช่เรื่องที่ดีซักเท่าไหร่ ซึ่งกำไรจะสอดคล้องกับระยะเวลาคืนทุนด้วย ดังนั้น ศึกษาและหาคำตอบให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจจ่ายเงินลงทุน


     3. อัตราการเติบโต

     สำหรับตัวเลขการเติบโตก็จะบอกเราได้ว่าธุรกิจแฟรนไชส์นี้กำลังเติบโตหรือหดตัวลง เพียงแต่ต้องระวังการเปรียบเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ให้ดี ยกตัวอย่างเช่น
 
  •      แฟรนไชส์ A เติบโตจาก 2.5 ล้านบาทไปเป็น 3 ล้านบาท เติบโตขึ้น 5 แสนบาท หรือคิดเป็น 20%
  •      แฟรนไชส์ B เติบโตจาก 10 ล้านบาทไปเป็น 11 ล้านบาท เติบโตขึ้น 1 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10%

     เมื่อดูจากเปอร์เซ็นต์จะพบว่า 20% มากกว่า 10% แต่ตัวเลข 1 ล้านบาทกลับมากกว่า 5 แสนบาทอยู่ดี ทั้งหมดนี้ไม่มีใครบอกได้ว่าแฟรนไชส์ไหนน่าสนใจกว่า เพราะอย่าลืมว่าเรายังต้องวิเคราะห์ให้รอบด้านจากจำนวนแฟรนไชส์ ค่าใช้จ่าย และกำไรอีกด้วย



     

     4. ความพึงพอใจลูกค้า

     ในส่วนของความพึงพอใจลูกค้า เป็นสิ่งที่ใช้ตัวเลขในการจับต้องหรือประเมินได้ค่อนข้างยาก แต่ความพึงพอใจนี้มีความสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อ การซื้อซ้ำ การบอกต่อ การรีวิวในเชิงบวก อันจะส่งผลต่อกำไรของแฟรนไชส์ ดังนั้น ลองตรวจสอบรีวิวบนโลกออนไลน์ดูว่าลูกค้าและกลุ่มเป้าหมายพูดถึงแฟรนไชส์ที่เรากำลังหมายตามองอยู่อย่างไร


     5. จำนวนลูกค้า

     ต้องบอกเลยว่าการประมาณหรือคาดการจำนวนลูกค้าไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าแฟรนไชส์ไหนสามารถบอกสัดส่วนได้คร่าวๆ ว่าในปีที่ผ่านมามีลูกค้ารายเก่ารายใหม่กี่คน คิดเป็นลูกค้าเก่ากี่เปอร์เซ็นต์ และลูกค้าใหม่กี่เปอร์เซ็นต์ รวมถึงมีกลยุทธ์ในการเจาะกลุ่มเป้าหมายอย่างไรให้เข้ามาเป็นลูกค้าใหม่ และมีกลยุทธ์อะไรที่ทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ ถ้าตอบได้จริงละก็ แฟรนไชส์ที่เราเล็งไว้ ไม่ธรรมดาแน่นอน





     6. รายได้ต่อบิล

     สมมติแฟรนไชส์ที่เราเล็งไว้เป็นร้านอาหาร และค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหนึ่งบิล/ต่อครั้ง ที่ลูกค้ารับประทานอาหารในร้านคือ 500 บาท ข้อมูลนี้จะช่วยบอกคร่าวๆ ว่าคุณจะขายสินค้าได้ดีแค่ไหน รายได้ต่อวันจะเฉลี่ยอยู่ที่เท่าไหร่ ไม่เกินเท่าไหร่ เพื่อเก็บไว้วิเคราะห์ต้นทุนค่าเช่า ค่าพนักงาน และค่าใช้จ่ายต่างๆ นั่นเอง
 

     7. ความพึงพอใจของพนักงาน

     เราคงไม่สามารถทำให้ลูกค้าพึงพอใจในบริการได้อย่างแน่นอน หากพนักงานไม่มีความสุขและต้องทำงานด้วยความกดดันตลอดเวลา หลายๆ คนอาจอยากรู้ว่าพนักงานมีความสุขกับการทำงานหรือไม่ สำหรับประเด็นนี้เราต้องไม่ถามด้วยคำพูด ลองใช้แบบประเมินที่ไม่สามารถ Track Back ได้ว่าใครเป็นคนกรอก แล้วให้ประเมินเป็นรายข้อ หัวข้อละ 5 คะแนน เป็นต้น เท่านี้ก็จะได้รู้ความจริงแล้ว ว่าแฟรนไชส์ต้องพัฒนาความสุขของคนทำงานก่อนหรือเปล่า
               

     ยิ่งแฟรนไชส์ที่เราไปเจรจาด้วยมีข้อมูลภาพรวมให้เห็นมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งสามารถมั่นใจและตัดสินใจได้อย่างรอบคอบมากขึ้นเท่านั้น 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup