Digital Marketing

อยากเป็น Unicorn ต้องฟัง 3 Startup รุ่นเก๋าเผยเทคนิค แนะจะเติบโตต้องกล้าเสี่ยง!!




     3 Startup รุ่นเก่าเล่าประสบการณ์ผ่านเวทีการประชุมออนไลน์ เรื่อง "Deep Tech Startup Networking Forum : นักวิจัยสู่การสร้าง startup ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหรือที่เรารู้จักในชื่อว่า Deep Tech Startup ที่จัดโดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เพื่อพัฒนาแนวทางการปลดล็อคนักเรียนทุนให้ออกมาสร้าง Deep Tech Startup ได้

 
     นัตวิไล อุทุมพฤกษ์พร ผู้ก่อตั้งบริษัท Trik หญิงไทยผู้ซึ่งติดอันดับ Forbes 30 Under 30 กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจ startup ของตัวเองว่า เริ่มจากความไม่รู้ และพอได้มีโอกาสไปเรียนปริญญาโทก็เรียนด้านโกลด์บอล ดีไซน์ เอนจิเนียริ่ง มีการเปิดโอกาสให้ทุกคนเอาเทคโนโลยีต่างๆ มาคิดมาต่อยอดเป็นเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์จบของตัวเอง




นัตวิไล อุทุมพฤกษ์พร ผู้ก่อตั้งบริษัท Trik


     แม้จะมีเทคโนโลยีอยู่ในมือ แต่ไม่มีเงินทุน เธอจึงต้องนำผลงานไปเสนอกับผู้ที่จะสามารถให้ทุนได้ ปรากฏว่ามีคนมาให้ทุนแต่ไม่ได้มากนัก ด้วยความที่มันเป็นเทคโนโลยียังใหม่จึงเป็นความท้าทาย และยังมีเงื่อนไขให้ต้องเลือกระหว่างการกลับมาใช้ทุนที่เมืองไทย แม้ในช่วงนั้นมีบริษัทเสนอให้ไปทำงาน สุดท้ายเธอเลือกที่จะเดินบนเส้นทาง startup ที่ไม่มีโอกาสรู้เลยว่ามันจะไปรอดไหม


     นัตวิไล เผยต่อไปว่าถือว่าเป็นการเริ่มต้นจากศูนย์ โชคดีที่มีครอบครัวสนับสนุน ให้เดินในเส้นทางใหม่มากในยุคเมื่อ 4-5 ปีก่อน ซึ่งส่วนตัวก็พบกับปัญหาคือ แม้จะมีเทคโนโลยีในมือ แต่ในสมัยนั้นคนที่บังคับโดรนได้ต้องมีทักษะและความชำนาญมาก ไม่เหมือนในปัจจุบันที่กดปุ่มสั่งการได้ ดังนั้นเมื่อนำเทคโนโลยีไปเสนอก็เหมือนว่าจะไปแย่งงานและอาจจะทำให้คนตกงานได้


     "มันเลยมาถึงจุดที่เราอ๋อ และยอมรับความจริงเพื่อตกผลึกความคิดว่า ถ้าคนชอบแต่ไม่อยากใช้ เราก็ไม่สามารถไปต่อได้ จึงคิดว่าถ้าเราเอาเทคโนโลยีมาวิเคราะห์ภาพจากโดรนแบบสามมิติ เป็นการช่วยงานเขาให้ดีขึ้น ก็เลยไปนำเสนอ ปรากฏว่าลูกค้าชอบ สำคัญคือเราต้องทดลองเสนอราคา ทดลองขายเริ่มจากบาทเดียวก็ได้ ถ้าลูกค้าชอบร้อยบาทเขาก็ซื้อ แต่ถ้าเขาไม่ชอบบาทเดียวเขาก็ไม่ซื้อ ถ้าใครคิดว่ามีไอเดียดีๆ อยากให้กล้าลองทำเป็น startup ดูสักครั้ง แต่อยากให้กำหนดเวลาให้ตัวเองอย่างชัดเจน ถ้าสองสามปีแล้วมันไปต่อไม่ได้ ก็อย่าลากยาวขอให้ปรับหรือเปลี่ยน ” ผู้ก่อตั้งบริษัท Trik กล่าว 
 

     อย่างไรก็ตาม คุณนัตวิไล ระบุว่า ประเทศไทยมีความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน ทั้งบุคลากร หน่วยงานให้ทุน แต่ระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างstartupของอังกฤษ รวมถึงช่องทางในการจัดจำหน่ายมีพร้อมกว่าไทย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีเว็บไซด์กลางที่สามารถนัดพบกันได้ระหว่างผู้ให้ทุนกับstartup ซึ่งมีแนวโน้มที่ดีมากต่อทิศทางstartupในประเทศไทย  



 
ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ ผู้ร่วมก่อตั้ง startup สัญชาติไทย บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด


     ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ ผู้ร่วมก่อตั้ง startup สัญชาติไทย บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ผู้วิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จากใบพืชที่แรกในประเทศไทย กล่าวว่า ตัวเองมีพื้นฐานเป็นอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงแม้จะมาทำบริษัทใบยาแต่ก็ยังสอนหนังสืออยู่ และยังเป็นที่ปรึกษาในภาคอุตสาหกรรมในการวางกลยุทธ์ให้คนไข้เข้าถึงยาได้ ซึ่งทำให้เรารู้ว่าประเทศไทยไม่สามารถผลิตยาและวัคซีนได้ตั้งแต่ต้นน้ำ


     พอทางมหาวิทยาลัยฯ มีนโยบายนำงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง และให้อาจารย์ทำ startup ได้เราจึงสนใจทำร่วมกับ ดร.วรัญญู พูลเจริญ อาจารย์จากคณะเดียวกัน เราเริ่มทำกันมาได้ 3 ปีแล้ว พอมีสถานการณ์โควิด-19 เราจึงคิดค้นวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 และแอนติบอดี้ยับยั้งเชื้อไวรัสจากใบยาสูบ โดยขณะนี้ได้ระดมทุนจากประชาชนเพื่อสร้างโรงงานในการผลิตมูลค่า 500 ล้านบาท ซึ่งโรงงานดังกล่าวมีความสำคัญและสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนให้กับประเทศจากในอดีตที่ไม่เคยมี อีกทั้งประชาชนก็จะได้ใช้วัคซีนในราคาที่ถูก 


     “อยากให้น้อง ๆ ที่เดินเข้าสู่เส้นทาง startup กล้าที่จะเปิดใจและลองทำ ไม่สำเร็จไม่เป็นไรอย่างน้อยก็ได้เดิน” ดร.สุธีรา กล่าว 
 


  
รศ.ดร เจษฎา วรรณสินธุ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท GISSCO


     รศ.ดร เจษฎา วรรณสินธุ์ เจ้าของรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ (2552) และรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี 2557 และผู้ก่อตั้งบริษัท GISSCO กล่าวว่า การที่เป็นอาจารย์ซึ่งติดทุนจากการเป็นนักเรียนทุนมาก่อนแล้วจะเริ่มทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยระบบไม่เอื้ออำนวย เราก่อตั้ง GISSCO ที่เริ่มจากศูนย์และทุบหม้อข้าวตัวเอง เป็นหนี้เป็นสิน กว่าจะผ่านแต่ละด่านและยืนได้ ไม่ใช่นักวิจัย หรือนักเรียนทุนอยากทำแล้วทำได้สำเร็จทั้งหมด ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละคนด้วย เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายและมีอุปสรรคและความเสี่ยงหลายอย่าง ปัจจุบันเป็นที่น่ายินดีว่าหลายมหาวิทยาลัยเริ่มมีการเปิดโอกาสให้อาจารย์ไปทำstartupได้และมีหน่วยงานที่ให้ทุนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นต้นทางที่ส่งผลกระทบเชิงบวกให้กับ Deep Tech Startup สูง 


     “ผมยึดหลัก 4 P ในการทำ startup เพื่อ เป็นแนวทางให้น้อง คือ 1. Principle คือ ต้องการหลักการที่ชัดเจน 2. Passion เราต้องมีแรงผลักดันในการทำเราต้องรู้ว่าการทำ startup ไม่ง่าย 3. Perseverance คือต้องสู้ไม่ถอย มีความมุ่งมั่น และ 4. Pain Resistance ต้องอดทนต่อความเจ็บปวดระหว่างทาง ต้องมีแรงต้านทาน ต้องคิดบวก ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ปรับ เพื่อไปสู่ความสำเร็จ” ดร.เจษฎา กล่าว 
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup