Digital Marketing

ส่องการตลาดแบบ Microniche หนี Red ocean จับลูกค้ากลุ่มเล็กแต่ทุ่มเงินซื้อหนัก

 

Text : Methawee T.

     ในยุคที่ธุรกิจรายใหญ่ไม่กี่รายครองส่วนแบ่งตลาดเกินกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของแต่ละอุตสาหกรรม คำถามที่น่าคิด คือผู้เล่นหน้าใหม่ หรือ Startup ที่มีทุนจำกัดและมีทรัพยากรน้อยกว่า จะหาช่องว่างเพื่อแจ้งเกิดได้อย่างไร โดยเฉพาะในสนามที่การแข่งขันดุเดือดอย่าง Red Ocean ที่เจ้าใหญ่แข่งขัน ลด แลก แจก และแถมมัดใจลูกค้า

 

 

     เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกับธุรกิจรายใหญ่โดยตรง Microniche จึงเป็นกลยุทธ์ทางรอด ที่ช่วย Startup หน้าใหม่หากลุ่มลูกค้าเฉพาะ ที่มีความต้องการพิเศษ และยังไม่มีใครตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขา ลูกค้ากลุ่มนี้แม้จะกลุ่มเล็ก แต่เป็นฐานลูกค้าเริ่มต้นที่หาก Startup สามารถมัดใจได้ ก็มีโอกาสสร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำและขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มอื่นๆ ได้ในอนาคต

     เชื่อหรือไม่ว่ากว่าที่ยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon จะกลายเป็น Everything Store หรือร้านค้าปลีกออนไลน์ที่ขายสินค้ามากที่สุดในโลกอย่างปัจจุบัน ลูกค้ากลุ่มแรกของ Amazon ก็เป็นลูกค้ากลุ่ม Microniche โดย Amazon เลือกกลุ่มลูกค้าคนชอบอ่านหนังสือหายาก ลูกค้ากลุ่มนี้จะตามหาหนังสือเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีการพิมพ์จำหน่ายแล้ว และยินดีจ่ายเงินเพิ่มเพื่อให้ได้หนังสือกลุ่มดังกล่าวมาครอบครอง

     หรือโซเชียลมีเดียเจ้าดังอย่างเฟซบุ๊ก ก่อนจะเป็นเบอร์หนึ่งของตลาดและมีคนใช้หลายล้านคนทั่วโลก เฟซบุ๊กก็เลือกเจาะกลุ่มนักศึกษาเป็นผู้ใช้กลุ่มแรก โดยเน้นเปิดตัวและทำการตลาดในมหาวิทยาลัยชื่อดังของอเมริกา และเมื่อครองใจนักศึกษาอเมริกาได้สำเร็จ เฟซบุ๊กจึงขยายกลุ่มเป้าหมาย และเติบโตเป็นโซเชียลมีเดียสำหรับทุกคนทั่วโลก

 

 

  • ตลาดแบบไหนที่เหมาะกับกลยุทธ์ Microniche?

     Microniche เป็นกลุ่มลูกค้าส่วนเล็กๆ ซึ่งแม้จะเป็นกลุ่มที่มีความต้องการซื้อเฉพาะเจาะจงเท่านั้น แต่ลูกค้ากลุ่มนี้ก็มีความต้องการซื้อสินค้าหรือบริการสูง และยินดีที่จะควักกระเป๋าจ่าย เพราะนั่นเป็นสิ่งที่พวกเขากำลังมองหาอย่างแท้จริง และนี่คือตลาดที่เหมาะกับกลยุทธ์ Microniche

- ตลาดที่การแข่งขันน้อย (Lower Competition)

     เนื่องจากขนาดตลาดที่เล็กจนรายใหญ่มองข้ามหรือมองว่าลงทุนแล้วไม่คุ้มค่า ทำให้ตลาดกลุ่มนี้มีการแข่งขันที่ไม่ดุเดือด เป็น Blue Ocean เหมาะสำหรับ Startup ที่คิดริเริ่มธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น กรณี Zappo บริษัทขายรองเท้าออนไลน์ เริ่มต้นจากค้นพบลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่มีความต้องการซื้อรองเท้าจากที่บ้าน แต่เมื่อวิเคราะห์ตลาดในช่วงเวลานั้นแล้วพบว่า ไม่มีธุรกิจเจ้าไหน หรือแม้กระทั่งแบรนด์รองเท้ารายใหญ่เจาะกลุ่มตลาดนี้ Zappo จึงเกิดขึ้นเพื่อเจาะตลาดคนซื้อรองเท้าจากที่บ้าน

 

 

- ตลาดที่มีความต้องการสูง (Strong Demand)

     เนื่องจากแนวคิดของธุรกิจรายใหญ่ที่มักมุ่งจับกลุ่มเป้าหมายตลาดที่มีผู้ใช้จำนวนมาก (Mass Market) และนำเสนอสินค้าหรือบริการที่มีมาตราฐานกลางๆ ซึ่งไม่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น เครื่องสำอางเคานต์เตอร์แบรนด์ทั่วไปที่ไม่ตอบโจทย์ผู้หญิงผิวสี ที่ต้องการเฉดสีพิเศษที่เหมาะกับสีผิวของตนเอง หรือแม้กระทั่งคุณแม่ที่กำลังให้นมบุตร ซึ่งมีความต้องการยกทรงที่แตกต่างจากผู้หญิงทั่วไป เมื่อสินค้าหรือบริการทั่วไปที่มีอยู่ในตลาดไม่สามารถตอบโจทย์ได้ ตลาดเฉพาะกลุ่มนี้จึงมีความต้องการสูง และมีกำลังจ่ายเงินสำหรับสินค้าหรือบริการที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขาได้  

- ตลาดที่มีกำไรสูง (Higher Margin)

     ตลาดที่การแข่งขันน้อย ทำให้ไม่ต้องแข่งขันด้านราคา และเสียงบประมาณในด้านการตลาดน้อยกว่าตลาดที่มีผู้เล่นรายหลายและแข่งขันกันดุเดือด อุตสาหกรรม Food Delivery เป็นตัวอย่างของตลาดที่ผู้แข่งขันเยอะและใช้งบประมาณการตลาดจำนวนมหาศาล ผู้เล่นแต่ละรายต้องเสนอโปรโมชัน ลดค่าส่ง ลดค่าอาหาร หรือโปรโมชันวันพิเศษเพื่อดึงดูดลูกค้าให้มาใช้แพลตฟอร์มของตนเอง ตลาด Microniche ที่การแข่งขันน้อยและความต้องการสูงจึงมีกำไรสูงเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดอื่นๆ

 

 

     ทั้งนี้ เมื่อค้นหาตลาดที่เหมาะกับกลยุทธ์แบบ Microniche เจอแล้ว ขั้นต่อไปก็ต้องค้นหา MVA (Minimum Viable Audience) หรือลูกค้ากลุ่มเล็กๆ กลุ่มแรกที่มีจำนวนและกำลังซื้อมากพอที่ช่วยให้ Startup เริ่มต้นได้ ซึ่งการค้นหาลูกค้ากลุ่มนี้เริ่มต้นจากการเลือกลูกค้ากลุ่มหลักที่สนใจ หลังจากนั้นให้แบ่งลูกค้ากลุ่มหลักเป็นลูกค้ากลุ่มเล็กๆ ตามความต้องการ วิเคราะห์ว่าลูกค้ากลุ่มเล็กๆ กลุ่มไหนที่มีความต้องการเฉพาะแต่สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ในตลาดไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการเหล่านั้นได้

 

     เมื่อค้นหาช่องว่างตลาดที่มีความต้องการสูง มีการแข่งขันน้อย มีกำไรสูง และหาลูกค้ากลุ่มแรกเจอ ก็เท่ากับว่าได้เจอสนามธุรกิจที่เหมาะกับ Startup ในการลงแข่งขันแล้ว

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup