Digital Marketing

ตั้งชื่อให้โดนใจ

 


เรื่อง : รัฐวิทย์ ทองภักดี
          rattawitt@yahoo.com



    การตั้งชื่อสินค้าหรือตราสินค้านับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของผู้ประกอบการ SME อีกทั้งยังเป็นเรื่องของ ‘จิตใจ’ ที่เชื่อมั่นในความคิด การมองการณ์ไกลของเจ้าของธุรกิจ 


    หากย้อนไปในอดีตหลายสิบปีใครจะคิดว่าชื่อสินค้า ‘SONY’ ที่ประกอบด้วยตัวอักษรเพียง 4 ตัว จะสามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนไปสู่โลกดิจิตอล หรือใครจะคาดคิดว่าชื่อแบรนด์ ‘Dprompt’ ที่ในช่วงเวลานั้นมีภาพลักษณ์เป็น ‘หญิงแก่ๆ ที่ป่วย ในเสื้อผ้าเก่าๆ’


   พอเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘Happy’ ในปัจจุบันจะให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากเดิมมากมายนัก จากที่มาที่ไปง่ายๆของคุณธนา เธียรอัจฉริยะ ว่าต้องการชื่อที่เป็นภาษาอังกฤษ เพราะเป็นสินค้าโทรคมนาคม ชาวบ้านเข้าใจง่าย เป็นคำที่มีความหมายบวก อารมณ์ดี มีความหมายตรงๆ ง่ายๆ ไม่ต้องไปสื่อสารต่ออีกชั้นหนึ่ง …ถึงวันนี้  แบรนด์  Happy เป็นชื่อที่อยู่ในใจของลูกค้าไปแล้ว


    ถ้าจะกล่าวว่า ‘ชื่อสินค้าดีมีชัยไปกว่าครึ่ง’  ก็เห็นจะจริงตามคำกล่าวนี้ เพราะ ‘ชื่อ’ มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จของการตลาดและการขายในอันดับแรกๆ  หากชื่อดี ลูกค้าก็สามารถเรียกชื่อได้ง่าย จำก็ได้ง่าย โอกาสที่จะซื้อซ้ำก็มีสูง แต่การตั้งชื่อเป็นทั้ง ‘ศาสตร์’ และ ‘ศิลป์’ ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัวว่าจะต้องตั้งชื่ออย่างไรถึงจะประสบผลสำเร็จ  บางครั้งก็อาศัยจากประสบการณ์และความรู้สึกของผู้ประกอบการล้วนๆก็มี


    ที่ต่างประเทศมีงานวิจัย เพื่อหาว่าชื่อที่ลูกค้าจดจำได้ง่ายนั้นควรใช้ตัวอักษรกี่ตัว?...ผลปรากฏว่าชื่อที่ประกอบด้วย 4 ตัวอักษร หรือออกเสียง 2 พยางค์ จะเป็นชื่อที่ลูกค้าจำได้ดีที่สุด เช่น SONY, Coke, Pepsi, SumSung, True, Nokia, DTAC, Orange , Apple , มาม่า เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นเป็นที่น่าสังเกตว่าในโลกอินเทอร์เน็ตเว็บไซต์ที่เป็นที่นิยมส่วนใหญ่ก็ใช้คำเพียง 2 พยางค์ เช่น google, facebook , hi5 , yahoo, hotmail, tarad, pantip, kapook  ฯลฯ 


    ถ้าจำเป็นต้องใช้ชื่อที่ยาว ก็ควรเป็นชื่อที่เรียกง่าย จำได้ง่าย อย่างเช่น  ‘ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว’ เป็นชื่อที่คุ้นหูและติดอยู่ในความสงสัยของผมมานานว่าชื่อแฟรนไชส์ร้อยล้านนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร จนกระทั่งมาทราบว่าชื่อนี้เกิดจาก คุณพันธ์รบ คำราบ ผู้เป็นเจ้าของกิจการ ‘ตั้งขึ้นเองโดยไม่ตั้งใจสื่อความหมายอะไร เพราะตอนคิดต้องการให้คนเห็นแล้วสะดุดตา จดจำชื่อได้ดี’


    โดยเมื่อคำนวณจากป้ายรถเข็นแล้วเห็นว่าชื่อไม่ควรที่จะเกิด 4 พยางค์ แล้วจากที่เป็นคนชอบอ่านนิยายจีน จึงคิดชื่อไว้หลายชื่อ ตั้งแต่ ป๊ะป๋า ปักกิ่ง ราชินี และสุดท้ายมาจบที่ ‘ชายสี่’ เพราะสอดคล้องกับคำว่า ‘บะหมี่เกี๊ยว’ มากที่สุด ไม่ได้คิดให้สอดคล้องกับพี่น้องผู้ชาย 4 คนที่มีอยู่แม้แต่น้อย 


    ‘มาม่า’ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอันดับ 1 ของไทย เป็นตราสินค้าที่เปรียบเสมือนตัวแทนของเครือสหพัฒน์ เป็นกรณีศึกษาที่ดี อย่างยิ่งในประเด็นนี้และแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของ ‘ชื่อ’ และ ‘ตราสินค้า’ ว่าเป็นตัวที่เปิดประตูไปสู่การยอมรับ กลายเป็นหมัดเด็ดเอาชนะคู่แข่ง แม้ในความเป็นจริง มาม่า ไม่ใช่รายแรกๆ ที่เข้าสู่ตลาด แต่เปิดตัวตามหลังโคคา ยำยำ และไวไว ที่ก้าวเข้ามายึดครองหัวหาดไปก่อนหน้านั้น 


    ดังนั้นการเข้าตลาดหลังคนอื่น ทำให้มีอยู่หนทางเดียวหากจะแซงหน้าคู่แข่งได้สำเร็จ นั่นคือ ต้องตั้ง  ‘ชื่อให้โดนใจและติดหู’ ได้ง่ายที่สุด สุดท้ายคนที่เป็นผู้ให้กำเนิดชื่อ ‘มาม่า’ ก็คือ นายห้างเทียม โชควัฒนา โดยเป็นคำที่เด็กๆ เปล่งเสียงเรียก ‘แม่’ ทำให้เป็นชื่อที่ติดปากได้อย่างรวดเร็ว หมายรวมถึงสื่อต่างๆที่ออกมาจะเป็นตัวสอนและชี้ทางให้สังคม  และไม่ยอมทำอะไรที่มีภาพลบเป็นอันขาด ใครจะดูว่าแก่ก็แก่ แต่แก่ในด้านคุณธรรม ทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นแนวทางการทำตลาดของมาม่าที่ยังคงยึดมั่นสืบต่อกันมา


    ชื่อสินค้าอีกหลายๆ ชื่อก็มีที่มาที่ไปไม่แพ้กัน  โดยเกิดจากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นชื่อ ‘เถ้าแก่น้อย’ ที่คุณพ่อของคุณอิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์ พูดแซวกับเพื่อนในโทรศัพท์ เมื่อเห็นลูกชายกำลังเตรียมตัวออกไปเซ็นต์สัญญาตั้งบูธแฟรนไชส์เกาลัดในห้างแห่งหนึ่ง แม้ครั้งหนึ่งจะเคยคิดที่จะเปลี่ยนชื่อ       แบรนด์ขนมสาหร่ายเป็น ‘เจโชว’ เพราะไม่มั่นใจในชื่อแบรนด์ของตัวเอง แต่คนที่ช่วยออกแบบบรรจุภัณฑ์ทักท้วงไว้ จึงทำให้มีชื่อเถ้าแก่น้อยที่ฮิตติดตลาดมาจนถึงทุกวันนี้ 


    จุดเริ่มต้นของตราสินค้าดังๆ ในบางครั้งก็เกิดจากไอเดียที่เรียบง่ายได้เหมือนกัน อย่างเสื้อยืดแบรนด์ ‘แตงโม’ ก็มีจุดเริ่มต้นง่ายๆ จากเจ้าของคุณ อดิศร พวงชมภู ที่เป็นคนที่ชอบกินแตงโม จึงตั้งชื่อยี่ห้อว่า แตงโม ส่วนตัวอักษรก็เริ่มจากการคิดถ้าใช้ภาษาไทย หากส่งไปขายต่างประเทศ ก็จะขายลำบาก หากใช้เป็นภาษาอังกฤษ ‘วอเตอร์เมลอน’ ที่แปลว่าแตงโมก็จะยาวเกินไป ไม่สวยงาม พอดูภาษาจีนคำว่า ‘ซีกวย’ เขียนสวย แต่เมื่อฟังแล้วรู้สึกไม่ไพเราะ สุดท้ายจึงมาลงตัวที่ภาษาญี่ปุ่นที่อ่านออกเสียงว่า ‘ซึอีกะ’ ฟังดูดี สั้น จำง่าย จึงตัดสินใจใช้คำนี้ตั้งแต่นั้นมา

 
    ชื่อสินค้าบางชื่อกว่าจะได้มาก็ต้องอาศัยการวิจัยตลาดและใช้งบประมาณไปไม่น้อยกว่าจะได้ชื่อที่ลงตัว สอดคล้องกับธุรกิจ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งชื่อสินค้าจะต้องสามารถตอบโจทย์เป้าหมายของธุรกิจที่วางไว้ได้ 


    ‘True’ เป็นอีกตัวอย่างที่น่าศึกษาในการยกเครื่ององค์กรใหม่ทั้งหมด โดยใช้ชื่อและสัญลักษณ์เป็นส่วนสำคัญ เมื่อชื่อเดิมคือ ‘เทเลคอมเอเชีย (Telecom Asia : TA)’ ที่เริ่มต้นมาจากธุรกิจโทรศัพท์บ้าน จึงทำให้ภาพพจน์ในใจลูกค้าเป็นภาพแม่บ้าน ไม่ค่อยคล่องตัวเท่าไร แต่มีความอบอุ่น ซึ่งเป็นการยากหากจะใช้ชื่อเดิมเพื่อสื่อสารถึงวิสัยทัศน์และเป้าหมายใหม่ของธุรกิจที่ต้องการเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมของผู้บริโภค ด้วยบริการที่หลายหลากทั้ง โทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ต บริการไร้สาย บรอดแบนด์  


    โดยการเปลี่ยนชื่อและสร้างแบรนด์ใหม่ในครั้งนี้มีบริษัท Interbrand จากประเทศอังกฤษ ซึ่งมีประสบการณ์สร้างแบรนด์สินค้าชื่อดังจากทั่วโลก ซึ่ง 1 ในจำนวนนั้นคือ ออร์เร้นจ์(Orange) ถูกว่าจ้างให้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาวางระบบแบรนด์ให้มีความชัดเจน แก้ปัญหาการมีแบรนด์ที่หลากหลาย จากชื่อกว่า 50 ชื่อ ถูกตัดออกให้เหลือเพียงไม่กี่ชื่อที่ต้องสอดคล้องกับคุณค่าของแบรนด์ ควรจะมีไม่เกิน 1-2 พยางค์ 


    โดยชื่อที่เข้ารอบสุดท้ายมีตั้งแต่ Together, Open, Sky, Tango, Bright, We และ True สุดท้ายจึงมาลงตัวที่ชื่อ True ที่บ่งบอกถึงคำมั่นสัญญาและจริงจัง มุ่งมั่น สอดคล้อง กับคุณค่าของแบรนด์ โดยเลือกใช้สีแดง ที่นอกจากแสดง ความสดใส แจ่มชัดแล้ว ก็มาจากสีของธงชาติอีกด้วย


    ไม่ว่าเราจะตั้งชื่อสินค้าด้วยวิธีใดก็ตาม ควรอิงหลักที่ว่า ‘ชื่อสั้น จำง่าย’ เอาไว้ก่อน แล้วถ้าหากเป็นชื่อที่มีความหมายหรือเชื่อมโยงกับธุรกิจของเราได้ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการตั้งชื่อก็คือ ‘ความเชื่อมั่น’ ของผู้ประกอบการ SME เอง ขอให้เป็นชื่อที่คุณคิดแล้วว่าดี ย่อมเป็นชื่อที่ดีแน่นอน เพราะชื่อสินค้าของคุณจะทำให้คุณมีพลังในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีๆ ให้แก่ลูกค้า ทำให้คุณมี ‘กำลังใจ’ บวกกับ ‘ศรัทธา’ ที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมุ่งมั่น เพื่อสร้างตราสินค้าของคุณให้อยู่ในใจของลูกค้าตลอดไป



www.smethailandclub.com :
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจ SME (เอสเอ็มอี)