รู้จัก 4 สตาร์ทอัพหัวใจสีเขียว เปลี่ยนของเหลือทิ้งเป็นสินค้ารักษ์โลก
แนวคิดการเปลี่ยนของเหลือทิ้งให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือที่เรียกว่า upcycled นั้น กำลังเป็นที่จับตามอง ซึ่งมีสตาร์ทอัพหลายรายดำเนินธุรกิจด้านนี้จนประสบความสำเร็จ สามารถสร้างรายได้เป็นล่ำเป็นสันมาแล้ว วันนี้เราเลยจะพาไปรู้จักสตาร์ทอัพที่เปลี่ยนของเหลือทิ้งให้เป็นสินค้ารักษ์โลกกัน
ChopValue Singapore เปลี่ยนตะเกียบเหลือทิ้งเป็นเฟอร์นิเจอร์
เอเวอลีน ฮิว เป็นสตาร์ทอัพสิงคโปร์ ก่อตั้ง ChopValue Singapore ขึ้นมาเพื่อแปรขยะจากตะเกียบไม้ใช้ครั้งเดียวทิ้งนับล้านๆ คู่ให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์และของใช้ในบ้านดีไซน์เก๋ โดยภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี ChopValue Singapore ก็สามารถกำจัดขยะจากตะเกียบได้มากถึง 77 ล้านตัน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการเผาทำลายลงได้ 105 ตัน
โดยตะเกียบที่รวบรวมมาได้จะถูกส่งเข้าโรงงานเคลือบเรซินปลอดพิษและอบฆ่าเชื้อด้วยความร้อน 200 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นก็นำตะเกียบมาบีบอัดด้วยแรงดันสูงเป็นก้อนเพื่อเพิ่มความแข็งแรงทนทาน ก่อนนำไปผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้อื่นๆ ที่เรียบหรูและสวยงาม เช่น อุปกรณ์ตกแต่งผนังห้อง โต๊ะทำงาน โต๊ะหน้าโซฟา ชั้นวางของ ถาดใส่อาหาร ที่รองแก้วน้ำ ที่วางโทรศัพท์และแท็บเล็ต
สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.smethailandclub.com/startup-techstartup/8863.html
Fabula Inc ซีเมนต์ อิฐรักษ์โลกจากอาหารเหลือทิ้ง
Fabula Inc ก่อตั้งโดย โคตะ มาชิดะและ ยูยะ สตาร์ทอัพญี่ปุ่น ดำเนินธุรกิจเปลี่ยนอาหารที่กำลังจะถูกทิ้งเป็นขยะให้กลายเป็นซีเมนต์ที่เมื่อนำไปประกอบเป็นรูปร่างต่างๆ จะมีความแข็งแรงทนทานและยืดหยุ่นได้มากกว่าซีเมนต์ปกติถึง 4 เท่า นวัตกรรมนี้จะช่วยขจัดขยะจากอาหาร บรรเทาภาวะโลกร้อน และลดปริมาณขยะในหลุมฝังกลบขยะ
โดยทั่วไปกระบวนการผลิตซีเมนต์ซึ่งใช้วัตถุดิบหลักเป็นหินปูนจะก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกราว 8 เปอร์เซนต์ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยสู่บรรยากาศโลก หรือมากกว่า 3.5 เท่าเมื่อเทียบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมการบิน ที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะผลิตซีเมนต์แบบชีวภาพโดยผสมกับขี้เถ้าไม้ กากกาแฟ หรือวัสดุอื่นๆ เข้ากับซีเมนต์ดั้งเดิม แต่สำหรับผลิตภัณฑ์ของฟาบูล่าโดย 2 นักวิชาการหนุ่มนั้นเรียกได้ว่าเป็นซีเมนต์ชีวภาพ 100 เปอร์เซ็นต์แถมยังรับประทานได้อีกด้วย
แม้การพัฒนาผลิตภัณฑ์จะใช้เวลานานหลายปีแต่ขั้นตอนการผลิตนั้นเรียบง่ายมาก นั่นคือการนำเศษอาหารเหลือมาทำให้แห้งสนิท จากนั้นก็บดเป็นผงแล้วบีบอัดลงในพิมพ์ด้วยความร้อน แต่สิ่งที่ยากคืออาหารแต่ละชนิดใช้อุณหภูมิและแรงบีบอัดเพื่อทำให้แข็งไม่เท่ากัน
สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.smethailandclub.com/startup-techstartup/8851.html